ความเสี่ยงของบัญชีเงินฝากในยุค 4.0
โลกและประเทศไทยในยุค 4.0 เป็นช่วงเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นความปกติที่เราสามารถพบเจอได้ทุกวัน คำว่า Disruption กลายเป็นคำคุ้นเคยที่เกิดขึ้นกับเกือบทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมก็ถูกความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเขย่าจนปั่นป่วน
เพียงแค่ไม่กี่วันที่ผ่านมา บางคนอาจยังไม่รู้ว่าความคุ้มครองของบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่คุณมีอยู่ได้ถูกลดลงไปสำหรับบางคนแล้วอีกประมาณ 1 ใน 3 ของวงเงินที่ได้รับความคุ้มครองเดิม
ก่อนอื่นคงต้องเท้าความกันยาวไปถึง ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งระบบสถาบันการเงินของไทยต้องประสบปัญหาจนลุกลามกลายเป็นวิกฤติทางการเงินโด่งดังไปทั่วโลก พลอยทำให้อาหารไทยโด่งดังไปทั่วโลกเพราะวิกฤติทางการเงินดังกล่าวรู้จักกันดีในชื่อของ วิกฤติต้มยำกุ้ง (Tom Yum Kung Crisis) และส่งผลทำให้รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกมติ ครม. คุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากทุกคนที่มีอยู่ในสถาบันการเงินต่างๆ เต็มจำนวน เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของผู้ฝากและเจ้าหนี้รวมทั้งนักลงทุนต่างๆ ต่อระบบทางการเงินให้กลับคืนมา
อย่างไรก็ตามการที่รัฐคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนก็อาจส่งผลให้สถาบันการเงินประกอบธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงเกินไป เพราะผู้ฝากจะไม่พิจารณาความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินก่อนที่จะทำการฝากเงิน เนื่องจากเห็นว่าได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนจากรัฐฯ
การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงเป็นการลดภาระ (ผูกพัน) ทางการเงินของรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก็จะเป็นภาระของผู้เสียภาษีในที่สุด และเป็นการควบคุมสถาบันการเงินจากการใช้กลไกตลาดให้มีการดำเนินงานที่รอบคอบมากขึ้น ยังเป็นการเพิ่มเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินอีกด้วย
เนื่องจากถ้าหากยกเลิกมาตรการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนแล้วไม่มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นมาดูแลเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน อาจส่งผลทำให้เกิดการตื่นตระหนกและแห่กันไปถอนเงินฝากออกจากระบบสถาบันการเงิน จนเกิดเป็นวิกฤติทางการเงินรอบใหม่ขึ้นมาก็ได้
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ (รวมสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในประเทศ) บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ส่วนสถาบันการเงินที่นอกเหนือจากประเภทที่กล่าวข้างต้น จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เช่น สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และยังไม่ได้กำหนดในพระราชกฤษฎีกาให้เป็นสถาบันการเงินภายใต้การคุ้มครอง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่กล่าวมาเป็นสถาบันการเงินของรัฐ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นที่เป็นเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ในปัจจุบันครอบคลุมถึง เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์/ สะสมทรัพย์/ เผื่อเรียก เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน
วงเงินคุ้มครองเงินฝากซึ่งเป็นจำนวนเงินฝากที่ผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะได้รับคืนทันทีจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากในลำดับแรกภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 30 วันหลังจากยื่นคำขอรับเงินได้มีการปรับลดลงเหลือเพียง 10 ล้านบาทต่อ 1 รายของผู้ฝากเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) ต่อ 1 สถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา และวงเงินคุ้มครองดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 5 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2562 และในที่สุดจะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
สำหรับจำนวนเงินฝากส่วนที่เกินวงเงินคุ้มครอง ผู้ฝากเงินจะมีโอกาสได้รับคืนเพิ่มเติมเมื่อการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเสร็จสิ้น
ต่อไปนี้ก่อนฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง อย่าลืมเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับควบคู่ไปกับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นๆ ด้วยนะครับ
AUTHOR :
ดร.ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้เขียนหนังสือ รวยเงินรวยสุข บันไดเลื่อนสู่ความร่ำรวย และอยากรวยต้องรู้ธรรม