รู้ไหมวันนี้ผู้สูงอายุเป็นสิ่งสากล
วันที่ 1 ตุลาคม ถือเป็นวันผู้สูงอายุสากล และถ้าจะพูดต่อไปอีกว่า วันนี้สำหรับทุกๆ ประเทศ การพบเห็นผู้สูงอายุทั่วบ้านทั่วเมืองทุกมุมของโลกได้กลายเป็นสิ่งสากลไปแล้ว
วิทยาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ และโภชนาการได้ทำให้อายุขัยของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป และผู้สูงอายุในยุคนี้จะอยู่กันเป็นหลักศตวรรษไม่ใช่ทศวรรษอีกด้วย
การวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ จึงเป็นแนวคิดที่เกิดจากความต้องการในการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานได้จนกระทั่งเกษียณจนตายในที่สุด โดยไม่ต้องเป็นภาระกับลูกหลานหรือสังคม ซึ่งในยุคปัจจุบันหลายๆ คนอาจไม่มีลูกหลานมาดูแล หรือไม่แน่ใจว่า ลูกหลานจะดูแลเราได้จริงหรือไม่
การวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ จึงเป็นกระบวนการที่แต่ละคนจะต้องกำหนดมาตรฐานการครองชีพที่ต้องการหลังเกษียณ เพื่อคำนวณเงินที่ต้องการ ณ วันที่เกษียณ แล้ววางแผนในการออมและการลงทุน ตั้งแต่ปัจจุบันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามจำนวนเงินที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการวางแผนทางการเงินเป็นกระบวนการที่อาจต้องใช้ระยะเวลา 20 – 30 ปี หลายๆ คนจึงมักมองข้ามความสำคัญของการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังอยู่ห่างไกล ส่งผลทำให้ละเลยไปเรื่อยๆ จนเวลาล่วงเลยเข้าใกล้วัยเกษียณจึงค่อยมาตื่นตัว แต่นั่นก็อาจสายจนเกินไป เพราะเงินจำนวนมากมายที่คุณต้องการใช้หลังเกษียณก็จำเป็นต้องใช้การสะสมเป็นเวลานานเช่นกัน
การวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ จึงเป็นกระบวนการที่ต้องเริ่มต้นทันที ตั้งแต่วันที่คุณเริ่มต้นทำงาน โดยอาจกำหนดเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ ก่อนที่คุณจะวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ คุณต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินให้เพียงพอก่อน อย่างน้อยเก็บเงินสด ซึ่งอาจอยู่ในรูปของบัญชีเงินฝากให้พอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้ได้สัก 6 เดือน และทำประกันภัย ทั้งรถยนต์ ที่พักอาศัย สุขภาพ และชีวิตให้ครบถ้วน เพื่อที่ว่าเงินที่ลงทุนไว้ใช้หลังเกษียณ จะได้ไม่ต้องถูกนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ตกงาน อุบัติเหตุ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย
2. การคาดการณ์จำนวนเงินที่ต้องการใช้ทั้งหมดหลังเกษียณ ทั้งนี้คุณต้องเริ่มคาดการณ์อายุขัยเฉลี่ยของตนเอง โดยอาจดูแนวทางจากอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย แล้วทำการปรับประมาณการอายุขัยเฉลี่ยโดยดูจากประวัติสุขภาพของตนเอง รวมทั้งอายุขัยของบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว
หลังจากนั้นคุณต้องตั้งเป้าหมายว่า จะเกษียณเมื่ออายุเท่าใด ซึ่งจะทำให้เห็นตัวเลขคร่าวๆ ว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณอีกกี่ปี แล้วจึงทำการกำหนดมาตรฐานการครองชีพที่ต้องการหลังเกษียณ โดยลองคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่คุณต้องการใช้หลังเกษียณในแต่ละปี แต่อย่าลืมว่า ค่าใช้จ่ายบางส่วนอาจเพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพและการท่องเที่ยว ในขณะที่อาจมีค่าใช้จ่ายบางส่วนลดลง เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
ในการประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องการหลังเกษียณ คุณต้องเผื่อค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะกว่าที่คุณจะเกษียณในอีก 20–30 ปีข้างหน้านั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงอาจปรับตัวมากขึ้นหลายเท่าตัวจากอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีรายได้จากแหล่งต่างๆ ไว้ใช้หลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม รวมทั้งเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับลูกจ้าง/พนักงาน หรือเงินบำเหน็จบำนาญจากกระทรวงการคลัง รวมทั้งเงินสะสมจากกองทุนกบข. สำหรับข้าราชการ
3. การวางแผนการออมและการลงทุน เมื่อคุณรู้จำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องการหลังเกษียณ ก็จะต้องทำการเฉลี่ยสะสมจำนวนเงินที่ต้องการ โดยตั้งเป้าหมายในการออมให้ได้ในแต่ละเดือน ก่อนที่จะนำเงินเดือนที่ได้รับไปใช้จ่าย ทั้งนี้คุณสามารถเก็บเงินในแต่ละเดือนให้น้อยลงได้ ถ้าหากคุณรู้จักนำเงินเก็บนั้นไปลงทุนให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ดอกผลมาช่วยลดจำนวนเงินสะสมที่ต้องการ
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยทำให้คุณสามารถดำรงชีวิตหลังเกษียณอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยความเมตตาผ่านรายการโทรทัศน์แล้วละครับ
AUTHOR :
ดร.ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้เขียนหนังสือ รวยเงินรวยสุข บันไดเลื่อนสู่ความร่ำรวย และอยากรวยต้องรู้ธรรม